ถึงแม้ว่าการตรวจแบบ Rapid Test จะไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์การติดเชื้อ โควิด-19 ที่แม่นยำได้
แต่สามารถใช้คัดกรองผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เบื้องต้นได้ เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อลดปัญหาความแออัดและการรอคิวนานจากการเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล และยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ตรวจพบเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
Rapid Test มีกี่ชนิด?
ชุด Rapid Test แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Rapid Test ชนิดตรวจ Antigen (Rapid Antigen Test) กับชนิดตรวจ Antibody (Rapid Antibody Test) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการตรวจที่แตกต่างกัน ดังนี้
- Rapid Antigen Test คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่น ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บตัวอย่างของชุดการตรวจนั้น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจนี้ ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะหากเชื้อไวรัสที่มีอยู่น้อย ก็อาจทำให้วิธีการตรวจนี้ไม่พบเชื้อ ดังนั้น จำเป็นจะต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
- Rapid Antibody Test คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยใช้วิธีการเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วหรือท้องแขน ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 10 วันขึ้นไป ถึงจะตรวจเจอภูมิคุ้มกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการตรวจนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง เพราะภูมิคุ้มกันโควิด-19 ไม่ได้มาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยดีแล้ว ก็สามารถตรวจพบได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนซื้อมาใช้ตรวจเองได้ แค่ชุด Rapid Antigen Test เท่านั้น (ทางภาครัฐจะเรียกว่าชุด Antigen Test Kit) ส่วนชุด Rapid Antibody Test อนุญาตให้ใช้ได้แค่ในสถานพยาบาล เนื่องจากชุด Rapid Antibody Test มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง และหากผู้ใช้เจาะเลือดไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และควรซื้อชุดตรวจที่ขึ้นทะเบียนกับอย. แล้วเท่านั้น!!
ขอบคุณข้อมูลจาก allwellhealthcare.com